แนวโน้มอุตสาหกรรมโรงแรมในประเทศไทยปี 2566

แนวโน้มอุตสาหกรรมโรงแรมในประเทศไทยปี 2566

สารบัญ:

แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2566 – 2567 สำหรับอุตสาหกรรมโรงแรมในประเทศไทย

วิจัยกรุงศรี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้เปิดเผยบทวิเคราะห์เกี่ยวกับแนวโน้มธุรกิจ-อุตสาหกรรมโรงแรมในปี 2565 -2567 เนื้อหาโดยสรุประบุว่าธุรกิจโรงแรมมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับในช่วงปี 2565-2567 และโดยในปี 2565 ธุรกิจยังคงฟื้นตัวได้เล็กน้อย [แหล่งอ้างอิง]

เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติยังกลับมาไม่มากนัก โดยเฉพาะจากจีนที่ยังคงเผชิญอุปสรรคจากนโยบาย Zero-COVID (ซึ่งอัพเดทล่าสุดจีนจะเปิดประเทศ 8 มกราคม ปี 2566 นี้) และประสบปัญหาพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงจากผลของสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเติบโตในอัตราเร่งขึ้นในช่วงปี 2566-2567 และจะฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อน COVID-19 (38-40 ล้านคน) ได้ในปี 2568 ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากมาตรการกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวในประเทศ

ด้านอุปทานคาดว่าผู้ประกอบการโรงแรมรายใหญ่จะยังคงขยายการลงทุนต่อเนื่อง แม้อาจล่าช้ากว่าแผน ทำให้อัตราเข้าพักทั่วประเทศมีแนวโน้มยังอยู่ในระดับต่ำเฉลี่ยที่ 45% ในปี 2565 ก่อนจะปรับขึ้นเป็น 55% ในปี 2566 และ 65% ในปี 2567 ซึ่งโดยภาพรวม ธุรกิจโรงแรมทุกพื้นที่จะยังคงแข่งขันรุนแรง จากภาวะอุปทานส่วนเกินสูง ในขณะที่อุปสงค์ฟื้นตัวอย่างช้าๆ ทำให้การปรับราคาห้องพักทำได้ยาก

แนวโน้มอุตสาหกรรมโรงแรมในประเทศไทยปี 2566
อัพเดทล่าสุดจีนจะเปิดประเทศ 8 มกราคม ปี 2566 นี้ [Photo by Markus Winkler]

มุมมองวิจัยกรุงศรี ประเมิณว่า

  • โรงแรมในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก (กรุงเทพฯ พัทยา และภูเก็ต) ปี 2565 ยังคงซบเซา เนื่องจากต้องพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ก่อนจะเร่งตัวขึ้นในปี 2566-2567 คาดรายได้ทยอยฟื้นตัวตามความต้องการเดินทางท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทั้งจากนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติในอีก 2-3 ปีข้างหน้า โดยอัตราเข้าพักประมาณ 65%-70% (เทียบกับ 79% ในปี 2562)
  • โรงแรมในจังหวัดศูนย์กลางความเจริญของภูมิภาค และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง เนื่องจากส่วนใหญ่เน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวคนไทย จึงได้อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศของภาครัฐ โดยอัตราเข้าพักน่าจะอยู่ที่ 50%-52% (เทียบกับ 66% ในปี 2562)
  • โรงแรมในจังหวัดทั่วไป แนวโน้มภาวะธุรกิจโดยรวมอาจยังฟื้นตัวช้า แม้จะได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศ เนื่องจากจังหวัด/พื้นที่ส่วนใหญ่รองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านเพื่อไปจังหวัดศูนย์กลางภูมิภาค/แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ทำให้รายได้และอัตราการเข้าพักมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำกว่า 2 พื้นที่ดังกล่าวข้างต้น

ธุรกิจโรงแรมทุกพื้นที่ยังคงแข่งขันรุนแรง จากภาวะอุปทานส่วนเกิน ทั้งจากธุรกิจเดียวกันและธุรกิจบริการที่พักรูปแบบอื่น และเมื่อผนวกกับอุปสงค์ต่อการท่องเที่ยวโดยรวมที่ยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้อัตราเข้าพักเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 45% 55% และ 65% ในปี 2565 2566 และ 2567 ตามลำดับ (เทียบกับ 71.4% ในปี 2562) ทำให้การปรับราคาห้องพักจึงยังคงทำได้อย่างจำกัด

วิจัยกรุงศรี ยังได้เปิดเผยปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจโรงแรม รวมไปถึงปัจจัยเสี่ยงที่จะมากระทบกับธุรกิจ นอกจากนั้นแล้วยังได้วิเคราะห์การแข่งขันในธุรกิจโรงแรมว่ามีแนวโน้มรุนแรงเกิดขึ้นจากอะไรบ้าง ซึ่งทางฐานเศรษฐกิจดิจิทัล สามารถสรุปเนื้อหาได้อย่างดีเยี่ยม [แหล่งอ้างอิง] โดยมีข้อมูลดังต่อไปนี้ 

ปัจจัยสนับสนุนแนวโน้มธุรกิจโรงแรมเติบโต

  • การเปิดประเทศแบบเต็มรูปแบบของไทยเมื่อ 1 กรกฎาคม 2565 หนุนให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานที่ท่องเที่ยวหลัก ได้แก่ กรุงเทพฯ พัทยา และภูเก็ต
  • ประเทศต่างๆ คลายกฎควบคุมที่เข้มงวดในการเดินทาง เนื่องจากอัตราการฉีดวัคซีนครอบคลุมมากขึ้น สร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยว
  • ตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดท่องเที่ยวสำคัญที่สุดของไทย น่าจะเริ่มทยอยผ่อนคลายควบคุมการเดินทางประมาณช่วงกลางปี 2566 และไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจีน (ปัจจุบันจีนจะเปิดประเทศ 8 มกราคม ปี 2566 นี้และประเทศจีนพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สถานการณ์จะเป็นอย่างไรต้องติดตามอย่างใกล้ชิด)
  • ภาครัฐดำเนินมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง เช่น การทำ travel bubble ระหว่างไทยกับประเทศสำคัญ เช่น จีน และอินเดีย เป็นต้น รวมถึงการโรดโชว์ที่มีเป้าหมายเจาะตลาดใหม่ระดับไฮเอนด์ เช่น ซาอุดีอาระเบีย
  • ความมีเสน่ห์ของการท่องเที่ยวไทยที่ดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว “ผลสำรวจเกี่ยวกับแผนการท่องเที่ยวระดับโลก” ล่าสุดของวีซ่า พบว่าไทยติดอันดับ 4 ด้านประเทศจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่น่าเดินทางไปมากที่สุดในโลก โดยกรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ และหัวหิน เป็นเมืองท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกค้นหาข้อมูลผ่านช่องทางออนไลน์มากที่สุด (TAT Newsroom, พฤษภาคม 2565)
แนวโน้มอุตสาหกรรมโรงแรมในประเทศไทยปี 2566
ล่าสุดของวีซ่า พบว่าไทยติดอันดับ 4 ด้านประเทศจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวที่น่าเดินทางไปมากที่สุดในโลก [Photo by Andrea Piacquadio]

ปัจจัยเสี่ยงกระทบธุรกิจโรงแรม

ปัจจัยเสี่ยงที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาวะการท่องเที่ยว ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างประเทศ สงครามรัสเซีย-ยูเครน และความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในประเด็นไต้หวัน หากสถานการณ์ยืดเยื้อยาวนานจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและตลาดท่องเที่ยวต่างชาติ โดยราคาน้ำมันที่อาจทรงตัวสูงจะเพิ่มต้นทุนการเดินทาง ทั้งในส่วนของนักท่องเที่ยวระยะไกล โดยเฉพาะตลาดยุโรปและสหรัฐฯ รวมทั้งนักท่องเที่ยวไทยที่จะระมัดระวังค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางมากขึ้น

ส่วนการแข่งขันในธุรกิจโรงแรมมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจาก​

  • คู่แข่งในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน เนื่องจากผู้ประกอบการโรงแรมยังคงขยายการลงทุนในพื้นที่ท่องเที่ยวหลักและเมืองศูนย์กลางของภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ทั้งการลงทุนเองและการรับบริหาร (ส่วนใหญ่เป็นรายใหญ่ที่มีเครือข่ายหรือเชนโรงแรม)
  • การแข่งขันจากบริการทดแทน อาทิ อพาร์ตเมนต์ เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ และคอนโดมิเนียม โดยยังมีการเปิดให้เช่าเป็นรายวัน (ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ. โรงแรม พ.ศ. 2547) และส่วนใหญ่มีราคาค่าเช่าเฉลี่ยต่ำกว่าโรงแรม รวมถึงสตาร์ทอัพอย่าง Airbnb ที่ทยอยเข้าสู่ตลาดที่พัก โดยปี 2564 จำนวนคืนพักของ Airbnb ในเอเชียแปซิฟิกโตถึง 20% สร้างแรงกดดันต่อรายได้ของธุรกิจโรงแรมโดยเฉพาะกลุ่ม SMEs เนื่องจากต้องใช้กลยุทธ์ด้านราคาดึงดูดลูกค้า
แนวโน้มอุตสาหกรรมโรงแรมในประเทศไทยปี 2566
ปี 2564 จำนวนคืนพักของ Airbnb ในเอเชียแปซิฟิกโตถึง 20% [Photo by Thorsten technoman]

แนวโน้มเทรนด์โรงแรมในประเทศไทยปี 2566

Remote work and long stays

เนื่องด้วยสถานการณ์ของโควิด-19 ได้ทวีความรุนแรง ประกอบกับเชื้อที่ได้กลายพันธุ์เป็นหลายสายพันธุ์และสามารถแพร่กระจายได้ง่าย ทำให้คนทำงานหลายคนทั่วโลกไม่สามารถเข้าออฟฟิศได้ และต้องทำงานจากที่บ้านแทน แต่หากเอาแต่อยู่บ้าน ก็อาจจะทำให้เฉาหรือหมดไฟในการทำงานได้

จึงมีคนทำงานจำนวนไม่น้อย ที่เลือกไปพักผ่อนตามโรงแรมรีสอร์ตต่างๆ ไกลจากบ้าน เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศและพักผ่อนไปในตัว จึงเป็นที่มาของการเข้าพักธุรกิจโรงแรมแบบ Long Stay และ Remote Work คือการพักอยู่ในโรงแรมเป็นเวลานานแทนบ้านและทำงานไปด้วย โดยทางการเงินธนาคารได้สรุป “Remote Work ทำงานระยะไกล ยังดำเนินต่อไปในปี 2566 หรือไม่? ”ได้อย่างน่าสนใจ [แหล่งอ้างอิง]

สุขอนามัยและความปลอดภัย

อุปกรณ์ พื้นที่ส่วนกลาง ห้องพักและห้องน้ำที่สะอาด นั้นมีความสำคัญในการเปลี่ยนประสบการณ์ที่พักสุดแสนธรรมดาให้กลายเป็นบริการชั้นเลิศ ทั้งระบบรักษาความปลอดภัยและการรักษาสุขอนามัยที่ดียังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้แขกของคุณนำความรู้สึกดีนี้ไปบอกต่อกับคนอื่นๆ

และเนื่องด้วยสถานการณ์ของโควิด-19 ควรเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่ส่วนรวมที่มีการสัมผัสร่วมกัน ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่ได้มาตรฐาน การมีเจลแอลกอฮอล์ตามพื้นที่ส่วนกลางและจุดบริการต่างๆเป็นสิ่งที่จำเป็น การเลือกใช้ประตูและอ่างล้างมืออัตโนมัติก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกในการลดการสัมผัสลง การจำกัดผู้ใช้ในพื้นที่และเว้นระยะห่างอย่างเหมาะสม

คุณยังสามารถตรวจสอบให้แน่ใจว่า พนักงานทำความสะอาดของคุณได้ตระหนักถึงความเสี่ยงต่อการปนเปื้อน โดยทิ้งถุงมือที่ใช้ทำความสะอาดห้องน้ำและเปลี่ยนคู่ใหม่ก่อนสัมผัสพื้นผิวหรือสิ่งอื่นๆ ควรทำความสะอาดสิ่งของที่ใช้งานบ่อยๆ เช่น รีโมท สวิตช์ไฟ แก้วน้ำดื่ม และหัวเตียง เพื่อจำกัดการแพร่กระจายของแบคทีเรีย เป็นต้น

แนวโน้มอุตสาหกรรมโรงแรมในประเทศไทยปี 2566
Wellness ไม่ใช่แค่เรื่องการมีสุขภาพที่ดี แต่ยังมีอีกหลายมิติ เช่น Physical, Mental, Emotional, Spiritual, Social, Environment และลดโรคเรื้อรัง(NCDs) [Photo by David Gomes]

Wellness

Wellness หรือการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ใช่แค่เรื่องการมีสุขภาพที่ดี แต่ยังมีอีกหลายมิติ เช่น Physical, Mental, Emotional, Spiritual, Social, Environment และยังช่วยลดการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ได้อีกด้วย

โดยทางโรงแรมสามารถจัดเตรียมพื้นที่ฟิตเนส สระว่ายน้ำ โยคะ สปา ซาวน่า เป็นต้น อาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ การบำบัดจิตใจด้วยธรรมชาติ การขายของที่เกี่ยวกับสุขภาพและการออกกำลังกาย ไปจนถึงการสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นต้น

จากข้อมูลของสถาบันโกลบอลเวลเนส (Global Wellness Institute : GWI) ได้มีการทำวิจัยเศรษฐกิจด้านสุขภาพทั่วโลก (Global Wellness Economy) เมื่อปี 2563 พบว่าตลาดมีมูลค่าสูงถึง 4.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับประเทศไทย Wellness Tourism ถือเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงและเติบโตต่อเนื่อง โดยข้อมูลในปี 2560 จาก GWI พบว่า มีจำนวนนักท่องเที่ยวในตลาดนี้สูงถึง 12.5 ล้านคนครั้ง สร้างรายได้กว่า 4 แสนล้านบาท และเกิดการจ้างงานสูงถึง 530,000 คน

Sustainability

เป็นเทรนด์ที่ไม่ใช่แค่เทรนด์อีกต่อไป ตอนนี้ได้มีการนำเข้ามาใช้งานจริงที่ไทยแล้วในหลายภาคพื้นที่ ทั้งการใส่ใจด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การจัดการกับขยะหรือมลพิษจากทางโรงแรม ลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนจากการขนส่งโดยการสนับสนุนและส่งเสริมธุรกิจในท้องถิ่น

การนำพลังงานสีเขียว (Green Energy) เข้ามาใช้งานหรืออาจจะเรียกได้ว่า ‘พลังงานหมุนเวียน’ เพราะนำมาจากแหล่งพลังงานที่สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น พลังงานลม แสงอาทิตย์ น้ำ ลดการใช้พลังงานฟอสซิลและลดการปล่อยแก๊สคาร์บอน บริหารให้การเกิดขยะเป็นศูนย์และลดการใช้พลังงาน โดยเราได้เคยกล่าวถึงบล็อกของเรา สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ [แหล่งอ้างอิง]

การส่งเสริมวัฒนธรรมและธุรกิจในท้องถิ่น

ท้องถิ่นในที่นี้อาจหมายความถึงความเป็นท้องถิ่นที่มีคุณลักษณะและผลประโยชน์เฉพาะตัว แตกต่างจากศูนย์กลางทางเศรษฐกิจการเมือง และวัฒนธรรมกระแสหลักของประเทศ การส่งเสริมธุรกิจในท้องถิ่น ไม่ได้เพียงช่วยแค่ลดค่าใช้จ่ายทางการขนส่งเพียงเท่านั้น

แต่ยังเป็นการส่งเสริมเอกลักษณ์เฉพาะตัวในพื้นที่ท้องถิ่นนั้นๆ ส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่นและธุรกิจในพื้นที่ให้โดดเด่นและเติบโตได้มากยิ่งขึ้น เมื่อธุรกิจในพื้นที่เติบโตมากขึ้น ก็จะดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากยิ่งขึ้น ธุรกิจโรงแรมที่สนับสนุนวัฒนธรรมและธุรกิจในท้องถิ่นก็จะสามารถเติบโตไปด้วยกันได้

อาจจะร่วมมือกับทัวร์ รถขนส่งผู้โดยสาร เสนอโปรโมชั่นลดราคาร้านค้าต่างๆสำหรับผู้เข้าพัก จัดนิทรรศการหรือมุมแสดงวัฒนธรรมงานฝีมือท้องถิ่นในโรงแรม ตลอดจนวางขายของที่ระลึกงานศิลปหัตถกรรมท้องถิ่น เป็นต้น

แนวโน้มอุตสาหกรรมโรงแรมในประเทศไทยปี 2566
ห้องพักจะไม่แบ่งประเภทอีกต่อไป เพราะในอนาคตผู้เข้าพักจะสามารถกำหนดหรือปรับเปลี่ยนได้เองตามต้องการ [Photo by GaPeppy1]

Personalization

จากการสำรวจความคิดเห็นของแขกผู้เข้าพัก และผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยกว่า 7,500 คน ของอมาเดอุส (Amadeus) และอินเตอร์คอนดิเนนตัลโฮเต็ลส์กรุ๊ป หรือไอเอชจี(IHG) ได้เผยให้เห็นถึง 3 แนวโน้มสำคัญที่จะเป็นโอกาสในการเติบโตของธุรกิจโรงแรมในประเทศไทย

1. ห้องพักจะไม่แบ่งประเภทอีกต่อไป เพราะในอนาคตผู้เข้าพักจะสามารถกำหนดหรือปรับเปลี่ยนได้เองตามต้องการ เช่น เปลี่ยนจากโต๊ะทำงานเป็นเสื่อโยคะ หรือแม้แต่ขอเข้าพักในห้องชั้น 3 ที่มองเห็นวิวได้เท่านั้น นอกจากนี้ ผู้เข้าพักยังสามารถจองห้องพักตามระยะเวลาที่ต้องการได้ โดยไม่จำเป็นต้องจองเป็นคืนอีกด้วย เมื่อเทียบกับทั้งหมด 12 ตลาดที่ทำการสำรวจ พบว่า ประเทศไทยเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงที่สุดสำหรับเทรนด์การปรับห้องพักตามความต้องการของผู้เข้าพัก โดย 38% ของนักท่องเที่ยวไทยระบุว่า เคยเข้าพักในห้องพักที่ปรับตามความต้องการส่วนบุคคล และ 45% สนใจที่จะพักในห้องดังกล่าวในอนาคต

2. หุ่นยนต์จะเข้ามามีบทบาทในโรงแรมแน่นอน โรงแรมหลายแห่งได้นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่มีความเฉพาะตัว และน่าจดจำยิ่งขึ้น โดยเทคโนโลยี AI จะช่วยให้ผู้เข้าพักสามารถใช้ระบบสั่งงานด้วยเสียงในการเรียกใช้บริการรูมเซอร์วิส เปิดปิดผ้าม่าน ตั้งนาฬิกาปลุก หรือแม้แต่ขอผ้าขนหนูเพิ่ม เช่น ผู้เข้าพักพูดว่า “ฉันต้องการทำงาน” ไฟในห้องจะเริ่มปรับแสง โทรทัศน์จะปิด และผ้าม่านจะเปิดออกโดยอัตโนมัติ

3. สร้างความประทับใจในทุกมิติ เมื่อพูดถึงการบริการสุดประทับใจ ทุกคนคงจะคิดว่าคงจะหาได้แค่จากโรงแรมหรู หรือโรงแรมบูติก แต่รายงานนี้ ชี้ให้เห็นว่า โรงแรมทั่วไปก็สามารถสร้างการบริการสุดประทับใจได้ หากโรงแรมสามารถทำให้ผู้เข้าพักรู้สึกผูกพันด้วยได้ หรือเรียกได้ว่าจะมี Customer Royalty ของแบรนด์เพิ่มขึ้นมา โดยต้องสามารถมอบคุณค่าผ่านประสบการณ์ที่น่าประทับใจและไม่เหมือนใคร ซึ่งเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกถึง 73% มองว่าสำคัญที่สุดสำหรับการท่องเที่ยว

นักท่องเที่ยวทั่วโลกถึง 70% ต้องการคำแนะนำเพิ่มเติมจากโรงแรมเกี่ยวกับกิจกรรมที่แปลกใหม่ แต่มีเพียง 20% เท่านั้นที่บอกว่าได้รับคำแนะนำเหล่านี้จากโรงแรม หากผู้ประกอบการโรงแรมต้องการจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับแขกผู้เข้าพักอย่างต่อเนื่อง และครอบคลุมทุกส่วนของธุรกิจ สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนโดยข้อมูล เพราะข้อมูลเป็นหัวใจหลักที่จะช่วยให้โรงแรมสามารถหาวิธีที่ดีที่สุดในการทำให้แขกแต่ละคนรู้สึกพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นการมอบสิทธิประโยชน์ประสบการณ์แปลกใหม่ หรือรางวัลต่างๆ ก็ตาม

แนวโน้มอุตสาหกรรมโรงแรมในประเทศไทยปี 2566
Mobile Application เป็นช่องทางที่ธุรกิจโรงแรมและธุรกิจบริการไม่ควรพลาด [Photo by Pixabay]

Digital Hotel

เทคโนโลยีใหม่ๆ ส่งผลให้ประสบการณ์ของผู้เข้าพักในโรงแรมเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ธุรกิจโรงแรมได้มาถึงจุดเชื่อมต่อสำคัญ ที่ต้องตามเทรนด์และอัพเดทข่าวสารด้านเทคโนโลยีใหม่ๆอยู่เสมอ เพื่อการบริการที่สามารถสร้างความประทับใจ ยกระดับการบริการลูกค้า และมอบประสบการณ์ที่น่าจดจำให้กับลูกค้าได้ รวมไปถึงนวัตกรรมและระบบหลังบ้านที่สามารถช่วยให้พนักงาน บริหารจัดการทรัพยากร เก็บข้อมูล ตรวจสอบ ประสานงาน สื่อสาร และการให้บริการได้ด้วยเทคโนโลยี

Cloud / บริการซอฟต์แวร์ผ่านอินเทอร์เน็ต (SaaS)

ปัจจุบันธุรกิจโรงแรม และธุรกิจบริการหันมาใช้เทคโนโลยี Cloud และ Saas เพิ่มขึ้น เนื่องจากช่วยลดต้นทุน ค่าดูแล บำรุงรักษาเว็บไซต์ ไม่ต้องเสียเงินจ้างพนักงาน ไม่ต้องปวดหัวกับปัญหาด้านไอทีของเว็บไซต์ ทำให้มีเวลาให้กับงานบริการลูกค้ามากขึ้น นอกจากนี้ ยังความยืดหยุ่นในการเพิ่มหรือลดระบบให้ตรงกับ ความ ต้องการ สามารถอัพเกรดเป็นเวอร์ชั่นใหม่ให้อัตโนมัติ โดยปราศจากค่าใช้จ่ายใด ๆ ทันทีที่มีการออกเวอร์ชั่นใหม่ ระบบจะทำการอัพเกรดให้อย่างอัตโนมัติ เทคโนโลยีดังกล่าวนี้ไม่ใช่แฟชั่นที่จะผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่เป็นเทรนด์ที่กำลังมีบทบาทเพิ่มขึ้นเพื่อก้าวสู่อีกยุคหนึ่งของธุรกิจ โรงแรมที่ง่ายและสะดวกสบายขึ้น ซึ่งทาง Enlist Group ได้สรุปข้อดีข้อเสียของการใช้งานระบบจัดการโรงแรมแบบ Cloud และแบบ Server ไว้ได้อย่างน่าสนใจ [แหล่งอ้างอิง]

Mobile Application

เป็นช่องทางที่ธุรกิจโรงแรมและธุรกิจบริการไม่ควรพลาด การที่โรงแรมมีแอปพลิเคชันหรือเว็บไซต์ที่รองรับสำหรับโทรศัพท์ สามารถอำนวยความสะดวกในจองห้องพัก เช็คอิน-เช็คเอาท์  การเลือกบริการเฉพาะบุคคล การชำระเงินออนไลน์ การเสนอโปรโมชั่น สมัครสมาชิก และโฆษณาต่างๆ โดยไม่ต้องเสียเวลาเช็คอินที่เคาน์เตอร์แบบเดิม ทั้งยังช่วยโรงแรมในการลดจำนวนพนักงานหน้าเคาน์เตอร์อีกด้วย และไม่จำเป็นเฉพาะโรงแรมที่มีเครือข่ายขนาดใหญ่เท่านั้น โรงแรมขนาดเล็กที่มีงบประมาณไม่มากนักก็สามารถทำได้ เพื่อเป็นการเพิ่มขีดการแข่งขันในงานบริการลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น

แนวโน้มอุตสาหกรรมโรงแรมในประเทศไทยปี 2566
การรีวิวของลูกค้า มีผลอย่างมากต่อผู้ที่มองหาสถานที่ พักผ่อน กิน เที่ยว และสิ่งอำนวยความสะดวก [Photo by Pixabay]

Social Media

การรีวิวของลูกค้าใน Tripadvisor, Booking.com, Agoda และอื่นๆ มีผลอย่างมากต่อผู้ที่มองหาสถานที่ พักผ่อน กิน เที่ยว และสิ่งอำนวยความสะดวก ซึ่งจะทำให้ธุรกิจของคุณถูกบอกต่อได้ทั้งในทางที่ดีและไม่ดี ในขณะที่ Facebook, Twitter ก็มาแรงมากจนโรงแรมไหนที่ไม่มีเพจหรือทวิตเตอร์ ไม่ได้อัพเดท หรือคอยตอบคำถามลูกค้าอย่างรวดเร็ว ก็จะถูกมองว่าบริการไม่ดี สร้างความไม่ประทับใจตั้งแต่ยังไม่ทันได้ใช้บริการ ส่วนโรงแรมไหนดูแลเพจอย่างตั้งใจ ก็จะสามารถดึงดูดให้มีแฟนและผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก ซึ่งเอื้อต่อการ สื่อสารต่าง ๆ ของโรงแรมสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว

Innovative Design

การตกแต่งโรงแรมนอกจากการใช้สถาปัตยกรรมและศิลปะเพื่อสร้างความแปลกใหม่และแตกต่างจากคู่แข่งแล้ว ปัจจุบันเริ่มมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการตกแต่งโรงแรมกันมากขึ้น เช่น การนำ Digital Signage หรือจออัจฉริยะที่มีหลากหลายขนาดหลากหลายรูปแบบมาใช้เพื่อสร้างความทันสมัยให้กับธุรกิจโรงแรมและยังสามารถใช้ประโยชน์ในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่าง ๆ หรือ Event ที่กำลังจะเกิดขึ้นภายในโรงแรมได้แบบเรียลไทม์

[Image] The Aiello Voice Assistant (AVA) has been introduced in several international hotel brands in Japan, Thailand, Malaysia, and Singapore
Chatrium Grand Bangkok หรือ ชาเทรียม แกรนด์ กรุงเทพ ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อ 28 พฤศจิกายนปี 2565 นี้ ได้เปิดตัวโรงแรมพร้อมกับลำโพงอัจฉริยะ Aiello Voice Assistant (AVA)

พลิกโฉมโรงแรมอัจฉริยะด้วยปัญญาประดิษฐ์ AI

การเพิ่มเข้ามาของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence, AI) จะพลิกโฉมโรงแรมให้กลายเป็นโรงแรมอัจฉริยะ ด้วยการอำนวยความสะดวกสบายให้กับผู้มาใช้บริการ แบ่งเบาภาระงานให้กับพนักงานโรงแรม แต่ยังคงนำเสนอการบริการที่เป็นส่วนตัวให้กับผู้เข้าพัก ซึ่งถูกพัฒนามาเพื่อเติมเต็มการอำนวยความสะดวกแบบดิจิทัลนั่นเอง

นอกจากนี้ ปัญญาประดิษฐ์ยังช่วยสร้างโพรไฟล์ของแขกที่มาเข้าพักได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งสามารถถูกใช้ในการนำเสนอการท่องเที่ยว และประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใครให้กับแขกที่มาเข้าพัก ลูกค้าสมัยใหม่คาดหวังโซลูชั่นที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการ เริ่มตั้งแต่การติดต่อ ข้อเสนอ จนไปถึงในระหว่างการเข้าพัก เช่น การเชื่อมต่อของการควบคุมห้องพัก เซนเซอร์จับการเคลื่อนไหว ระบบควบคุมทีวี และเสียง เรียกได้ว่าเป็นความหรูหรารูปแบบใหม่ที่จะช่วยดึงดูดความสนใจได้มากขึ้น

ซึ่งโดยทั่วไป หลายๆโรงแรมในประเทศไทย ได้มีการใช้งานแชทบอทในการตอบคำถาม ช่วยแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมให้กับลูกค้า และแยกหมวดหมู่ในการประสานงานให้กับพนักงาน อีกทั้งยังเป็นการมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้เข้าพักอีกด้วย โรงแรมหลายแห่งได้ปรับเปลี่ยนและหันมาใช้ปัญญาประดิษฐ์ในโรงแรมมากขึ้น ตัวอย่างเช่น Chatrium Grand Bangkok หรือ ชาเทรียม แกรนด์ กรุงเทพ ที่เพิ่งเปิดตัวเมื่อ 28 พฤศจิกายนปี 2565 นี้ ได้เปิดตัวโรงแรมพร้อมกับลำโพงอัจฉริยะ Aiello Voice Assistant (AVA) ที่สามารถยกระดับประสิทธิภาพการให้บริการ การมอบประสบการณ์ และความประทับใจให้กับแขกผู้เข้าพักได้ ด้วยการออกคำสั่งด้วยเสียงทั้งหมด เช่น การควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆในห้องพัก ไฟ ทีวี แอร์ เป็นต้น สามารถคุยเล่น เปิดเพลง แนะนำร้านอาหารหรือแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ให้คุณได้ เป็นต้น

ช่วยแบ่งเบาภาระให้กับพนักงานโรงแรมได้ผ่านระบบหลังบ้าน เก็บข้อมูลต่างๆบน Cloud ทำให้สามารถเช็ค ประสานงานหรือดำเนินรายการต่างๆผ่านโทรศัพท์ได้ ช่วยตอบคำถามเกี่ยวกับข้อมูลต่างๆของโรงแรมได้ เช่น สระว่ายน้ำอยู่ชั้นไหน สลิปเปอร์อยู่ไหน น้ำในตู้เย็นฟรีไหม หรือแม้แต่การขอน้ำดื่ม บริการเช็คเอาท์  เช็คสภาพอากาศ ตั้งนาฬิกาปลุก เป็นต้น

สนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ [แหล่งอ้างอิง] เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลัง [แหล่งอ้างอิง]

แนวโน้มอุตสาหกรรมโรงแรมในประเทศไทยปี 2566
สวัสดีปีใหม่ 2566 [Photo by Valeriia Miller]

สรุป

แม้ทุกวันนี้จะมีโรคระบาด สงคราม ภาวะโลกร้อน ภัยธรรมชาติและอื่นๆมากมายที่เกิดขึ้นตามกาลเวลาต่างๆ ขอให้ผู้อ่านทุกท่านอย่าลืมตามอัพเดทข่าวสารอยู่เสมอ เพื่อที่จะสามารถเข้าใจสถานการณ์และเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ต่างๆได้อย่างทันท้วงที หรือสามารถคว้าโอกาสนั้นๆไว้ได้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *